โครงการอัมพวา ชัยพัฒนานุรักษ์ อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม
ความเป็นมา
sbobetJoz สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ
สยามบรมราชกุมารี พระราชทานพระราชดำริให้สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา
ดำเนินการรับโอนที่ดินซึ่งนางสาวประยงค์ นาคะวะรังค์
ข้าราชการบำนาญโรงพยาบาลทรวงอก กรมควบคุมโรคติดต่อ กระทรวงสาธารณสุข
ขอพระราชทานน้อมเกล้าฯ ถวายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างจำนวน 5 แปลง พื้นที่รวม 21 ไร่ 12
ตารางวา ในตำบลอัมพวา อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม
เพื่อใช้ประโยชน์ในกิจกรรมของมูลนิธิชัยพัฒนา
โดยมูลนิธิชัยพัฒนาได้รับโอนเป็นกรรมสิทธิ์ เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม
2545
พระราชดำริ
- พัฒนาและอนุรักษ์ศิลปกรรม วิถีชีวิต และวัฒนธรรมพื้นบ้านที่มีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นของชุมชนอัมพวาทั้งในด้านกายภาพ และการดำเนินชีวิตของผู้อาศัยในพื้นที่และชุมชน โดยการเข้ามามีส่วนร่วมในการประกอบอาชีพ และประกอบกิจกรรมภายในพื้นที่
- พัฒนาพื้นที่ให้เกิดศักยภาพเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เชื่อมโยงกับอุทยานพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (อุทยาน ร.2) และแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ ของจังหวัดสมุทรสงคราม รวมทั้งเป็นแหล่งศึกษาเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับพันธุ์ไม้พื้นเมือง การรักษาระบบนิเวศน์ของสวนผลไม้ และแหล่งรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับวิถีชีวิตของชุมชนอัมพวา
- สร้างมูลค่าเพิ่มและรายได้ให้กับชุมชนจากการจำหน่ายผลผลิต ผลิตภัณฑ์แปรรูป และค่าตอบแทนจากการให้บริการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์
- ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาแบบบูรณาการ โดยสร้างโอกาสให้ชุมชน องค์กรท้องถิ่น และองค์กรเอกชนที่เกี่ยวข้อง เข้ามามีส่วนร่วมและมีบทบาทในการบริหารจัดการพื้นที่ เพื่อให้เกิดความสมดุลในการพัฒนา และการพึ่งพาตนเองของชุมชนตามแนวคิดระบบเศรษฐกิจพอเพียง
หน่วยงานรับผิดชอบ สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา
ลักษณะโครงการ / กิจกรรมภายในโครงการ
ได้ดำเนินการปรับปรุงซ่อมแซมอาคารเรือนแถวไม้ริมคลองอัมพวา
จัดสร้างเรือนแถวร้านค้าชุมชน และปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณลานอเนกประสงค์ และในสวน
โดยได้เริ่มดำเนินกิจกรรมส่งเสริมการพัฒนาในปี 2551
แบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่
พื้นที่สวนชัยพัฒนานุรักษ์
จัดพื้นที่สวนผลไม้ดั้งเดิมให้เป็นแหล่งเรียนรู้ถึงภูมิปัญญาและวิถีชีวิตท้องถิ่นอัมพวาในด้านการเกษตร
โดยเฉพาะไม้ผลที่เป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของอัมพวา
รวมทั้งส่งเสริมให้เป็นแหล่งแลกเปลี่ยนความรู้ด้านการเกษตรระหว่างเกษตรกร ชาวสวน
นักวิชาการ และผู้สนใจ
ลานวัฒนธรรมนาคะวะรังค์
และลานสวนชัยพัฒนานุรักษ์
เป็นลานอเนกประสงค์สำหรับการจัดกิจกรรมส่งเสริมวัฒนธรรมท้องถิ่น งานเทศกาล
และกิจกรรมต่างๆ ของชุมชน รวมทั้งจัดพื้นที่ร้านค้าชุมชน เพื่อเปิดโอกาสให้ชุมชน
และคนในท้องถิ่นเช่าพื้นที่เพื่อจำหน่าย หรือจัดแสดงสินค้าที่เป็นของท้องถิ่น
เพื่อเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้ และการมีส่วนร่วมของชุมชน
พื้นที่เรือนแถวไม้ริมคลองอัมพวา
กิจกรรมที่ให้การส่งเสริม ได้แก่ ร้านชานชาลา เป็นร้านจำหน่ายเครื่องดื่ม
และของว่าง โดยร้านชานชาลาจะเป็นพื้นที่เปิดเชื่อมโยงกิจกรรมริมคลองอัมพวา
ลานวัฒนธรรมนาคะวะรังค์ และพื้นที่สวน รวมทั้งจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของมูลนิธิชัยพัฒนา
และผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น ห้องนิทรรศการชัยพัฒนานุรักษ์ เป็นพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการ
และกิจกรรมส่งเสริมวัฒนธรรมและวิถีชีวิตชุมชนแม่กลอง และอัมพวา
การส่งเสริมให้ผู้เช่าอาศัยเรือนแถวไม้ริมคลองอัมพวาของมูลนิธิชัยพัฒนาเปิดร้านขายของ
หรือจัดกิจกรรมที่สะท้อนสภาพวิถีชีวิตอัมพวา ส่งเสริมการค้าขายทางเรือ
โดยการให้เช่าเรือ และการจัดระเบียบการค้าขายริมคลองอัมพวา
กิจกรรมภายในโครงการ
1. กิจกรรมธุรกิจโครงการ
1.1 ร้านค้าชุมชน จัดให้ชุมชนเช่าร้านค้าภายในบริเวณลานวัฒนธรรมนาคะวะรังค์
และลานสวนชัยพัฒนานุรักษ์ รวมทั้งส่งเสริมการค้าขายทางเรือ
โดยได้ร่วมกับผู้ประกอบการกำหนดกติกาในการดำเนินการ
และดูแลความเป็นระเบียบของพื้นที่ มีการส่งเสริม
และให้ความรู้กับร้านค้าในด้านต่างๆ ในปี 2553 มีรายได้จากการให้เช่าร้านค้า
คิดเป็นร้อยละ 11 ของรายรับทั้งหมดของโครงการฯ
1.2 ร้านชานชาลา เป็นร้านจำหน่ายเครื่องดื่มและอาหารว่าง ดำเนินงานภายใต้แนวคิด “หน้าร้านชุมชน หน้าบ้านอัมพวา” นำผลิตภัณฑ์ชุมชนมาจัดแสดง แนะนำ และพร้อมจำหน่าย ลูกค้าหรือนักท่องเที่ยวสามารถซื้ออาหารจากเรือหรือร้านจำหน่ายอาหารอื่นแล้วนำเข้ามารับประทานภายในร้านชานชาลาได้ ร้านชานชาลาดำเนินธุรกิจบนหลักเอื้อเฟื้อพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน กลุ่มลูกค้าจะเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวครอบครัว กลุ่มนักเรียนนักศึกษา โดยเป็นกลุ่มลูกค้าชาวไทยเป็นหลัก และมีกลุ่มลูกค้าชาวต่างชาติเพิ่มขึ้นซึ่งในปัจจุบันมีประมาณ 6 % ของนักท่องเที่ยวทั้งหมด ผลประกอบการจากการจำหน่ายเครื่องดื่ม และอาหารว่าง สร้างรายได้ให้โครงการมากที่สุด คิดเป็น ร้อยละ 75 ของรายรับทั้งหมดของโครงการฯ
1.3 การขอเช่า/ใช้พื้นที่จัดกิจกรรมของหน่วยงานต่างๆ มีหน่วยงานต่างๆ ให้ความสนใจ และเข้ามาขอเช่าพื้นที่เพื่อจัดกิจกรรมเพิ่มขึ้น ทำให้มีโครงการมีรายได้จากการให้เช่าพื้นที่ และเป็นการสร้างโอกาสให้แก่ร้านค้าภายใน และภายนอกโครงการ ในปี 2553 โครงการฯ มีรายได้จากการให้เช่า/ใช้พื้นที่จัดกิจกรรมของหน่วยงานต่างๆ คิดเป็นร้อยละ 3 ของรายรับทั้งหมดของโครงการฯ
2. กิจกรรมอนุรักษ์และพัฒนาชุมชน
2.1 การศึกษาดูงานและเผยแพร่ประชาสัมพันธ์
มีผู้สนใจขอเข้าเยี่ยมชมและศึกษาดูงานโครงการฯ เป็นจำนวนมาก ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน
และสถานศึกษาต่างๆ รวมทั้งบุคคลที่สนใจทั่วไป โดยพาคณะดูงานเข้าเยี่ยมชมโครงการฯ
และเข้าเยี่ยมชมชุมชนโดยรอบพื้นที่ ซึ่งมีแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรม
แหล่งเรียนรู้ด้านการเกษตร และวิสาหกิจชุมชนที่หลากหลาย นอกจากนี้มีรายการโทรทัศน์
และรายการสารคดีการท่องเที่ยวเข้ามาถ่ายทำรายการในโครงการ ทั้งนี้
โครงการได้ทำการประชาสัมพันธ์ให้แต่ละกลุ่มเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย
เป็นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านการพัฒนาชุมชนให้เกิดขึ้นต่อไป
โดยระหว่างเดือนมกราคม – พฤศจิกายน 2553 มีผู้เข้าศึกษาดูงานจำนวน
141 คณะ
2.2 ห้องนิทรรศการชัยพัฒนานุรักษ์ ร่วมกับชุมชนและหน่วยงานต่างๆ ที่ขอใช้ห้องนิทรรศการ สำหรับจัดแสดงนิทรรศการที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตชาวอัมพวา โดยในปี 2553 มีการจัดนิทรรศการรวมทั้งสิ้น 9 ครั้ง ได้แก่ นิทรรศการ “เรือไทย...ศิลปะแห่งสายน้ำ” นิทรรศการ “การเดินทางของหิ่งห้อย” นิทรรศการ “100 ปีชาตกาล ครูเอื้อ สุนทรสนาน” และนิทรรศการ “สานศิลป์ ละอองศิลป์ ครั้งที่ 1” เป็นต้น นอกจากนี้ ได้จัดทำและจำหน่ายไปรษณียบัตรชุดภาพเขียนงานจักสานทางมะพร้าว จำหน่ายในห้องนิทรรศการ และได้จัดกิจกรรมสาธิตการจักสานทางมะพร้าวบริเวณด้านหน้าห้องนิทรรศการเป็นประจำทุกวันเสาร์ วันอาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์
2.3 กิจกรรมสวนชัยพัฒนานุรักษ์ ส่งเสริมให้เป็นแหล่งแลกเปลี่ยนความรู้ด้านการเกษตรระหว่างเกษตรกรชาวสวน นักวิชาการ และผู้สนใจเข้าเยี่ยมชม ดำเนินการปรับแต่งภูมิทัศน์ภายในสวน รวมทั้งศึกษาพันธุ์ไม้ผลและพันธุ์พืชอื่นๆ เพื่อนำเข้ามาปลูกเพิ่ม ส่วนพันธุ์ไม้เดิมที่มีอยู่ก็ดูแลรักษาโดยการนำภูมิปัญญาท้องถิ่น และองค์ความรู้ทางวิชาการมาประยุกต์ใช้ เพื่อเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ของชาวสวนและบุคคลทั่วไป ปรับปรุงฟื้นฟูไม้ผล และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โดยในปี 2553 โครงการมีรายได้จากสวนชัยพัฒนานุรักษ์ คิดเป็นร้อยละ 1 ของรายรับทั้งหมดของโครงการฯ ในปี 2553
3. ผลการดำเนินงานด้านการเงิน
ในปี 2553
(มกราคม – ตุลาคม 2553) โครงการมีรายรับรวมทั้งสิ้น
2,469,389.85 บาท และรายจ่ายรวมทั้งสิ้น 5,283,643.62
บาท ประมาณการรายรับ จำนวน 4,958,528.00 บาท
โดยโครงการให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการรายรับ
ควบคุมการใช้จ่ายให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตัดทอนรายจ่ายที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้
และให้ความสำคัญกับกิจกรรมที่ลงทุนแล้วก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาชุมชน
4. กิจกรรมธุรกิจโครงการ
จัดกิจกรรมส่งเสริมการขายสินค้าชุมชน “โอทอปของดีอัมพวา” ร่วมกับร้านค้าในโครงการฯ
และกลุ่มวิสาหกิจชุมชน รวมทั้งร่วมกับร้านค้าปรังปรุงสภาพร้านค้า
และพื้นที่ให้เป็นระเบียบเรียบร้อยเพิ่มจำนวนร้านค้า
และทำข้อตกลงในการดำเนินงานร่วมกัน นอกจากนี้จะได้
ปรับปรุงสถานที่ให้เหมาะสมแก่การใช้ประโยชน์ ได้แก่ ปรับปรุงระบบความร้อนของอาคาร
กลิ่นและระบบน้ำทิ้งห้องน้ำ อ่างล้างมือที่ถูกสุขลักษณะ ทางเดินและสะพานในสวน
ติดตั้งไฟส่องสว่างเพิ่มเติมเพื่อความปลอดภัย เป็นต้น
5. กิจกรรมส่งเสริมทางวัฒนธรรม
โดยสร้างความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกจังหวัด องค์การพัฒนาเอกชน
และภาคธุรกิจ โดยมุ่งเน้นกิจกรรมทางการตลาดให้สอดคล้องกับการส่งเสริมวัฒนธรรมท้องถิ่น
6. การขอเช่า/ใช้พื้นที่จัดกิจกรรม
ของหน่วยงานต่างๆ
ทั้งภาครัฐ และเอกชน เพิ่มการประชาสัมพันธ์ไปยังหน่วยงานต่างๆ
และจะพิจารณาการกำหนดค่าใช้สถานที่ตามความเหมาะสม
7. ร้านจำหน่ายอาหารว่างชานชาลา
เพิ่มผลิตภัณฑ์ชนิดใหม่ ได้แก่ น้ำมะม่วงหาวมะนาวโห่ น้ำม่วงชื่นบรรจุขวด
และจัดทำผลิตภัณฑ์ของที่ระลึก ดำเนินการปรับปรุงโต๊ะ เก้าอี้นั่ง ที่ชำรุดทั้งหมด
และติดตั้งไฟส่องสว่างเพิ่มเติมเนื่องจากไฟที่ติดไว้เดิมถูกบดบังแสงสว่างจากต้นไม้ที่โตขึ้น
ช่วยให้ลูกค้ารู้สึกปลอดภัย รวมทั้งพัฒนาทักษะของพนักงาน ด้านการผลิตสินค้า ด้านการบริการ
ด้านการประชาสัมพันธ์ และการใช้ภาษาต่างประเทศ
8. ร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชน
ใช้อาคารเรือนรับรองเปิดจำหน่ายสินค้าชุมชน และสินค้าจากโครงการต่างๆ
ของมูลนิธิชัยพัฒนา รวมถึงผลิตภัณฑ์ชุมชนจากจังหวัดใกล้เคียง
เป็นการส่งเสริมรายได้แก่ชุมชน เพิ่มรายได้ให้แก่โครงการฯ
9. กิจกรรมพัฒนาชุมชน
จัดกิจกรรมฝึกอบรมสร้างอาชีพให้แก่ชุมชนอย่างต่อเนื่อง ได้แก่
การฝึกอบรมภาษาอังกฤษ การฝึกอบรมนวดแผนไทย การจักสานก้านมะพร้าว ฝึกต่อเรือจำลอง
การทำอาหารและขนมไทย งานช่างไฟฟ้า และเครื่องตัดหญ้า เป็นต้น
โดยประสานงานกับหน่วยงานราชการต่างๆ และภาคเอกชน
มุ่งเน้นการสร้างความร่วมมือเพื่อพัฒนาชุมชน และเพิ่มช่องทางการประชาสัมพันธ์
รวมถึงโอกาสในการจำหน่ายสินค้าของโครงการฯ
10. ห้องนิทรรศการชัยพัฒนานุรักษ์
จัดนิทรรศการเป็นประจำตลอดทั้งปี โดยความร่วมมือจากชุมชน
และมุ่งเน้นกลุ่มนักเรียนในจังหวัดสมุทรสงครามให้มาเยี่ยมชมมากยิ่งขึ้น
11. กิจกรรมสวนชัยพัฒนานุรักษ์
ใช้พื้นที่ดินที่มีให้เกิดประโยชน์สูงสุด ดำเนินการเร่งปลูกไม้ผลในแปลง
เพื่อเป็นตัวอย่างการสร้างแรงบันดาลใจให้แก่เยาวชน
และทำการทดลองเลี้ยงปลาในร่องสวนเพื่อเพิ่มรายได้ และสามารถขยายผลให้กับเกษตรกรต่อไป
ทั้งนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานพระราชานุมัติรับมอบที่ดินที่ นางสาววณี ดวงคุ้ม และนางสาวประทิน ดวงคุ้ม ราษฏรตำบลอัมพวา อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม น้อมเกล้าฯ ถวายเพื่อทรงใช้ในกิจกรรมของมูลนิธิชัยพัฒนา เนื้อที่รวมทั้งสิ้นประมาณ 5 ไร่ เป็นพื้นที่สวนต่อเนื่องติดกับโครงการฯ โดยจะได้ขยายเป็นพื้นที่สวนเกษตรผสมผสานแบบดั้งเดิม เพื่อเชื่อมโยงการดำเนินงาน และกิจกรรมแหล่งท่องเที่ยวกับอุทยานพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (อุทยาน ร.2) และแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ ของชุมชน เพื่อสร้างโอกาส และส่งเสริมการพัฒนาตามแนวพระราชดำริ ต่อไป
สถานที่ตั้งโครงการ
ชื่อโครงการ :
โครงการพัฒนาพื้นที่ของมูลนิธิชัยพัฒนา (นาบัว) ตำบลพงสวาย อำเภอเมือง
จังหวัดราชบุรี
ที่ตั้งโครงการ : เลขที่ 185 - 191 ตำบลอัมพวา อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม 75110
โทรศัพท์ : 034-752-245
เว็บไซต์ : http://www.amphawanurak.com
Facebook : ร้านค้าชุมชน โครงการอัมพวา ชัยพัฒนานุรักษ์
ที่ตั้งโครงการ : เลขที่ 185 - 191 ตำบลอัมพวา อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม 75110
โทรศัพท์ : 034-752-245
เว็บไซต์ : http://www.amphawanurak.com
Facebook : ร้านค้าชุมชน โครงการอัมพวา ชัยพัฒนานุรักษ์
ขอขอบคุณข้อมูลจาก chaipat.or.th
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น